จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส (อังกฤษ: Epistle to the Ephesians) เรียกโดยย่อว่าพระธรรมเอเฟซัส เป็นเอกสารฉบับที่ 10 ของคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ จากหลักฐานโดยทั่วไปถือว่าผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้คือ นักบุญเปาโล เอเฟซัส เป็นจดหมายที่นักบุญเปาโลไม่ได้เขียนถึงคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสเพียงเมืองเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกส่งไปถึงคริสตจักรในเมืองอื่น ๆ แถบเอเซียด้วย นักบุญเปาโลน่าจะเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นในราวปีค.ศ. 60 และจากเนื้อความในจดหมายที่ว่า “เพราะข่าวประเสริฐนี้เองทำให้ข้าพเจ้าเป็นทูตผู้ต้องติดโซ่อยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะเล่าข่าวประเสริฐด้วยใจกล้าตามที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าว” ทำให้ทราบได้ว่า ในขณะที่เขียนจดหมายนั้น นักบุญเปาโลกำลังถูกจำคุกอยู่เป็นระยะเวลา 2 ปีในกรุงโรม
เอเฟซัส เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ (ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) ในสมัยนั้นเป็นจุดตัดของเส้นทางการค้าที่สำคัญหลายสาย จึงทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งวิหารเทพเจ้าไดอาน่าของชาวโรมันด้วย (ชาวกรีกเรียกว่า อารเทมิส) นักบุญเปาโลได้เดินทางมาที่นี่ เมื่อครั้งการเดินทางเพื่อประกาศข่าวประเสริฐครั้งที่สอง และให้ปริสสิลลากับอาควิลลาอยู่ที่เมืองนี้ ส่วนนักบุญเปาโลเองได้เดินทางต่อไป ภายหลังได้มีโอกาสกลับมายังเมืองนี้อีกครั้ง และได้ทำการประกาศข่าวประเสริฐในเมืองนี้อยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดการจลาจลในเมือง เพราะวิหารเทพเจ้าในเมืองนั้นขาดรายได้ เนื่องจากนักบุญเปาโลเทศนาว่ารูปเคารพไม่มีความหมาย ประชาชนจึงไม่บริจาคเงินเข้าวิหารเทพเจ้าอารเทมิสส่งผลให้นักบุญเปาโลถูกบีบบังคับให้ออกจากเมืองไป
เอเฟซัส แตกต่างไปจากจดหมายฉบับอื่นที่นักบุญเปาโลเขียน เนื่องจากเนื้อหาในจดหมายไม่ได้เจาะจงถึงปัญหา หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักร แต่นักบุญเปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงพระคุณของพระเจ้า แนวทางในการปฏิบัติต่อกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ นักบุญเปาโลให้ความสำคัญกับความสามัคคีมาก โดยสรุปว่าคริสเตียนทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกันในพระเยซู จึงควรปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความรักที่มีต่อกัน นอกจากนี้ นักบุญเปาโลยังได้เขียนเกี่ยวกับคริสตจักร ที่ไม่ใช่อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง แต่หมายถึงคริสตจักรที่เป็นการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคริสเตียน ซึ่งภายในกลุ่มมีความแตกต่างกันทั้งทางอายุ ฐานะ เชื้อชาติ ฯลฯ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข นักบุญเปาโลมีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ประการในการเขียนพระธรรมเล่มนี้ ประการแรกคือ ต้องการเน้นให้ผู้อ่านทราบถึงความคิดรวบยอดของความรอดที่มาจากพระเจ้า คือพระเจ้าทรงรักมนุษย์ จึงประทานความรอดผ่านทางความเชื่อในพระเยซู ประการที่สอง คือ นักบุญเปาโลต้องการอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือชาวต่างชาติก็สามารถรับความรอดได้เหมือนกันเพราะทุกคนเหมือนกันในสายพระเนตรของพระเจ้า ความรักจากพระเจ้าไม่ได้เลือกเชื้อชาติหรือสีผิว ประการสุดท้าย นักบุญเปาโลต้องการสอนเรื่องการดำเนินชีวิตคริสเตียนที่ดี โดยกล่าวถึงคริสเตียนที่อยู่ในสถานะต่างๆว่า ควรจะปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในอีกสถานะหนึ่งอย่างไร เช่น การปฏิบัติตัวระหว่างสามีและภรรยา ระหว่างบุตรและบิดามารดา ระหว่างทาสและนายของตนเป็นต้น
นักบุญเปาโลอัครทูต (อังกฤษ: St. Paul the Apostle) หรือนักบุญเปาโลแห่งทาร์ซัส (อังกฤษ: St. Paul of Tarsus; อิตาลี: San Paolo di Tarso) หรือนักบุญเปาโล มาจาก ภาษากรีก “Šaʾul HaTarsi” หมายถึง “เซาโลแห่งทาร์ซัส” มาจาก “Σαουλ” “Saul” หรือ “Σαῦλος” “Saulos” หรือ “Παῦλος” “Paulos” เป็น “อัครทูตถึงชนต่างชาติ” (Apostle to the Gentiles) พร้อมกับนักบุญเปโตรและนักบุญยากอบผู้ชอบธรรม (James the Just) , เป็นมิชชันนารีที่สำคัญที่สุดในศาสนาคริสต์ยุคแรก แต่ไม่เคยพบพระเยซูดังเช่นอัครทูตท่านอื่น ๆ ไม่มีหลักฐานใดที่กล่าวว่านักบุญเปาโลเคยพบพระองค์ด้วยตนเองก่อนที่จะถูกตรึงกางเขนตามที่กล่าวใน “กิจการของอัครทูต” นักบุญเปาโลมานับถือศาสนาคริสต์ระหว่างที่เดินทางไป ดามัสกัส จากการที่ได้เห็นพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ นักบุญเปาโลกล่าวว่าท่านมิได้รับพระวจนะจากมนุษย์แต่ได้รับจากพระเยซูโดยตรง
กล่าวกันว่าพันธสัญญาใหม่สิบสี่บทหรือที่เรียกว่าจดหมายของนักบุญเปาโล เขียนโดยท่านเอง แต่ใครเป็นผู้เขียนจริงก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักบุญเปาโลมักจะบอกให้ช่างเขียน (amanuensis) เขียน นาน ๆ จึงเขียนด้วยตนเอง การรับรองว่าข้อเขียนเป็นของแท้ ผู้เขียนจดหมาย มักจะใช้ย่อหน้าที่แสดงให้เห็นว่าเป็นลายมือของนักบุญเปาโลเอง จดหมายเหล่านี้ใช้เผยแพร่ในชุมชนผู้นับถือคริสต์ศาสนา จดหมายของนักบุญเปาโลเป็นเอกสารที่สำคัญในพันธสัญญาใหม่ และในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายศาสนจักร จดหมายของนักบุญเปาโลเชื่อกันว่าเป็นเอกสารฉบับแรกที่สุดของพันธสัญญาใหม่ ปรัชญาความคิดเห็นของนักบุญเปาโลกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นความคิดเห็นที่สำคัญกว่าความคิดอื่นใดของผู้มีส่วนเขียนพันธสัญญาใหม่ อิทธิพลความคิดเห็นของนักบุญเปาโลอาจจะเห็นได้จากปรัชญาของนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโปไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างนักเทววิทยาก็อตสชอลค (Gottschalk) และฮิงมาร์แห่งรีมส์ (Hincmar of Reims) หรือ ระหว่าง ลัทธิทอมัสของนักบุญโทมัส อควีนาส กับลัทธิโมลินา (Molinism) ของลุยส์ โมลินา (Luis Molina) เป็นต้น