โทราห์ เป็นชื่อของชุดคัมภีร์ชุดแรกในคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 5 เล่มแรกในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ หมายถึง บทบัญญัติ ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยแปลว่า ธรรมบัญญัติ หรือ พระบัญญัติ ภายหลังได้มีการแปลเป็นภาษากรีกจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า เบญจบรรณ หมายถึง ที่บรรจุห้าอัน คือหนังสือ 5 เล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ได้แก่หนังสือปฐมกาล หนังสืออพยพ หนังสือเลวีนิติ หนังสือกันดารวิถี หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ โทราห์เขียนด้วยภาษาฮีบรูไบเบิล หรือที่รู้จักกันในชื่อ หนังสือของโมเสส เป็นคัมภีร์ที่พระเจ้าประทานให้กับโมเสส กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโลกและสรรพสิ่ง รวมถึงที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างพระยาห์เวห์กับมนุษย์ เช่น การสร้างทรงสร้างของพระเจ้า กำเนิดมนุษย์ ที่มาของบาปกำเนิด พันธสัญญาของพระเจ้า บรรพชนของชนชาติอิสราเอล เรื่องของบัญญัติสิบประการ และพิธีการต่าง ๆ ของชาวอิสราเอล เป็นต้น ในปัจจุบันโทราห์ใช้ในศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ ในขณะที่ชาวมุสลิมเชื่อว่า คัมภีร์นี้ถูกบิดเบือน แต่งเติม และตัดตอน อีกทั้งบทบัญญัติหลายประการก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานอัลกุรอานลงมาแทน ชาวมุสลิมจึงไม่ได้ใช้คัมภีร์นี้
คัมภีร์ฮีบรู ซึ่งเป็นชุดคัมภีร์ในศาสนายูดาห์ และเป็นที่มาของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ด้วย คัมภีร์นี้ส่วนใหญ่บันทึกเป็นภาษาฮีบรูไบเบิล บางส่วนเป็นภาษาแอราเมอิกไบเบิล (เช่น หนังสือดาเนียล หนังสือเอสรา เป็นต้น) ซึ่งคัมภีร์ฮีบรูนี้มีหนังสือทั้งสิ้น 24 เล่ม สารบบของคัมภีร์ฮีบรูที่ใช้ในปัจจุบันสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของนิกายโปรเตสแตนต์ แต่ไม่ตรงกับของนิกายโรมันคาทอลิกและอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ซึ่งได้เพิ่ม “คัมภีร์อธิกธรรม” และ Anagignoskomena เข้ามา ความหมายของคัมภีร์ฮีบรูจึงไม่เกี่ยวกับชื่อ จำนวน และลำดับหนังสือ ต่างจากสารบบคัมภีร์ไบเบิลที่ศาสนาคริสต์จัดระบบขึ้นในยุคหลัง
ศาสนายูดาห์ หรือศาสนายิว คือวิถีชีวิต ปรัชญา และศาสนาประเภทเอกเทวนิยม ตามความเชื่อของชาวยิว มีต้นกำเนิดในคัมภีร์ฮีบรู (หรือคัมภีร์ทานัค) รวมถึงคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น คัมภีร์ทาลมุด ศาสนิกชนยูดาห์ถือว่าวิถีนี้ เป็นพันธสัญญาระหว่างพระยาห์เวห์กับวงศ์วานอิสราเอล ศาสนายูดาห์แบบรับบีถือว่าพระยาห์เวห์ได้ประทานธรรมบัญญัติที่เรียกว่าคัมภีร์โทราห์แก่โมเสสที่ภูเขาซีนาย ศาสนายูดาห์มีพระเจ้าสูงสุด คือ พระยาห์เวห์ โดยชาวยิวมีความเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างโลกและมนุษย์คู่แรกเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล และถือว่าโมเสสคือศาสดา ให้กำเนิดศาสนายูดาห์เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และยังมีบุคคลสำคัญ เช่น อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ ยูดาห์ ผู้เผยพระวจนะท่านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ฯลฯ เป็นต้น ศาสนายูดาห์มีความเป็นมายาวนานกว่าสี่พันปี (นับจากสมัยอับราฮัม) จึงถือเป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน ในคัมภีร์ทานัคที่เขียนขึ้นในยุคหลัง เช่น หนังสือเอสเธอร์ เรียกชาวฮีบรูหรือวงศ์วานอิสราเอลว่าชาวยิว คัมภีร์ของศาสนายูดาห์ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อกลุ่มศาสนาอับราฮัมยุคหลังด้วย คือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาบาไฮรวมทั้งมีอิทธิพลต่อจริยธรรมและระบบซีวิลลอว์ตะวันตกทั้งทางตรงและทางอ้อม
ชาวยิวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนา ซึ่งหมายรวมทั้งที่เป็นชาวยิวโดยกำเนิดและและคนที่เข้ารีตยิว ในปี ค.ศ. 2010 ประชากรยิวทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.2 ของประชากรโลกทั้งหมด ชาวยิว 42% อาศัยอยู่ที่ประเทศอิสราเอล อีก 42% อาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ที่เหลือส่วนมากอาศัยอยู่ในทวีปยุโรป ขบวนการศาสนายูดาห์ที่ใหญ่ที่สุดคือศาสนายูดาห์ออร์ทอดอกซ์ ศาสนายูดาห์อนุรักษนิยม และศาสนายูดาห์ปฏิรูป แต่ละกลุ่มมีการตีความธรรมบัญญัติแตกต่างกันไป ศาสนายูดาห์ออร์ทอดอกซ์ถือว่าคัมภีร์โทราห์และธรรมบัญญัติมาจากพระเป็นเจ้า เป็นนิรันดร์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงต้องถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ศาสนายูดาห์อนุรักษนิยมและศาสนายูดาห์ปฏิรูปจะมีแนวคิดแบบเสรีนิยมมากกว่า ศาสนายูดาห์ปฏิรูปถือว่าธรรมบัญญัติต่าง ๆ เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไป ไม่ใช่ข้อบังคับหรือพันธะ การตีความคำสอนและข้อบัญญัติต่าง ๆ ในศาสนายูดาห์ไม่เป็นสิทธิ์ขาดแก่บุคคลหรือองค์การใดโดยเฉพาะ แต่ยึดตามตัวบทในพระคัมภีร์และตามแต่รับบีหรือนักวิชาการจะตีความกันโดยเฉพาะ
ศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน
คริสตชนเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจึงมักเรียกพระเยซูว่า “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก