หนังสือปฐมกาล มาจากภาษากรีกว่า “การเกิด” หรือ “ที่มา” เป็นหนังสือที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโลก มนุษย์ และอิสราเอล ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชาติที่พระเจ้าได้เลือกไว้ (ซึ่งมีความนัยทางเทววิทยา) ชื่อ “ปฐมกาล” แปลมาจากคำแรกของคัมภีร์ฮีบรูคำว่า בראשית (B’reshit or Bərêšîth) แปลว่า “ในปฐมกาล…” (in the beginning…) ผู้เขียน หนังสือปฐมกาลเป็นหนังสือเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม (โทราห์) และเป็นเล่มแรกในหมวดเบญจบรรณ ชาวยิวเชื่อว่าโมเสสเป็นผู้เขียนขึ้น เนื้อหากล่าวถึงประวัติการสร้างโลกของพระยาห์เวห์ จนถึงลำดับลูกหลานของวงศ์วานอิสราเอล และการเข้าสู่อียิปต์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายดี เช่น อาดัมกับเอวา เรือโนอาห์ หอบาเบล ฯลฯ สำหรับศาสนายูดาห์ ความสำคัญทางคริสต์ศาสนวิทยาเน้น พันธสัญญา (Covenants) ซึ่งเป็นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชาติที่ได้รับเลือก (Chosen People) คือชาวยิว เกี่ยวกับดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land) ที่พระเจ้าทรงประทาน สำหรับศาสนาคริสต์ ตีความหมายมาสู่ความเชื่อว่า พระเยซูเปรียบได้กับอาดัมคนใหม่ และพันธสัญญาใหม่เป็น “บทสรุปของพันธสัญญาเดิม” โครงสร้างของ หนังสือปฐมกาล ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์ช่วงต้น (primeval history) (ปฐมกาล 1-11) กับ ลำดับพงศาวลี (biblical Patriarchs) ขณะที่ โครงเรื่องเกี่ยวกับโยเซฟ (บุตรยาโคบ) เป็นเรื่องเล่าต่างหาก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหนังสือปฐมกาลเขียนโดยผู้ไม่ออกนามและมีการแก้ไขระหว่างศตวรรษที่ 10 ถึง 5 ก่อนคริสตกาล
เนื้อหาโดยสรุป หนังสือปฐมกาลเริ่มต้นด้วยการทรงสร้างของพระเจ้า ทั้งการสร้างฟ้าสวรรค์ โลก สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อาดัมและเอวามนุษย์คู่แรก รวมทั้งการกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความบาปอันเป็นเหตุให้มนุษย์ถูกขับออกจากสวนเอเดน และหนังสือปฐมกาลก็นำไปสู่เหตุการณ์ที่สำคัญของมนุษยชาติ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ การสร้างหอบาเบล และปรากฏการณ์เรือโนอาห์ในเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ต่อมากล่าวถึง การทรงเรียกของอับราฮัม และพันธสัญญาที่ทรงกระทำต่อเขาและภรรยา และยังกล่าวไปถึงรุ่นลูกของอับราฮัม ซึ่งได้แก่ อิสอัค และอิชมาเอล บรรพบุรุษของชนชาติอิสราเอลและปาเลสไตน์ รุ่นหลานของอัมราฮัมได้แก่ยาโคบ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า อิสราเอล และรุ่นเหลน ได้แก่ โยเซฟ ผู้ซึ่งนำพาอิสราเอลเข้าไปพำนักอยู่ในแผ่นดินอียิปต์ หนังสือปฐมกาลยังกล่าวถึงยุคก่อนหน้าที่ชนชาติอิสราเอลจะเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งอธิบายถึงพื้นฐานแนวความคิดทางด้านชาตินิยม ศาสนา รวมไปถึงประวัติศาสตร์ กฎหมาย และประเพณีต่าง ๆ ของชนชาติยิวอีกด้วย
กำเนิดโลก ในหนังสือปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างสรรพสิ่ง โดยทรงใช้เวลาในการสร้างโลกทั้งสิ้น 6 วัน และทรงใช้เวลาอีก 1 วันเพื่อพักผ่อน จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้ 1 สัปดาห์ มี 7 วัน และกำหนดให้มี 1 วันเป็นวันพักผ่อน ที่มักพบในพระคัมภีร์ว่า “วันสะบาโต” ชาวยิวเคร่งครัดในวันสะบาโตมาก ไม่ทำอะไรในวันนั้น กิจกรรมที่อนุญาตให้ทำในวันนั้นมีจำนวนจำกัดมาก การไม่เคารพวันสะบาโต เสมือนการไม่ยำเกรงพระเจ้าเลยทีเดียว ลำดับการทรงเนรมิตสร้างโลกของพระเจ้าเป็นดังนี้
- วันที่ 1 ทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน แผ่นดินก็ร้างและว่างเปล่า ทรงแยกความสว่างออกจากความมืด พระเจ้าทรงเรียกความสว่างนั้นว่า วัน และความมืดนั้นว่า คืน มีเวลาเย็นและเวลาเช้า
- วันที่ 2 พระเจ้าทรงสร้างภาคพื้น แล้วทรงแยกน้ำที่อยู่ใต้ภาคพื้น ออกจากน้ำที่อยู่เหนือภาคพื้น พระเจ้าจึงทรงเรียกภาคพื้นนั้นว่า ฟ้า
- วันที่ 3 พระเจ้าทรงแยกแผ่นดินออกจากแผ่นน้ำ และทรงเรียกแผ่นน้ำนั้นว่า ทะเล ทรงเนรมิตให้เกิดพืช ทั้งผัก หญ้า และต้นไม้นานาชนิด
- วันที่ 4 พระเจ้าทรงสร้างดวงสว่างต่าง ๆ ของภาคพื้นฟ้า เพื่อแยกวันออกจากคืน ให้เป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปี และทรงสร้างดาวต่าง ๆ
- วันที่ 5 พระเจ้าทรงสร้างสัตว์ทะเล และนกในอากาศ และทรงอวยพระพรแก่สัตว์เหล่านั้นว่า “จงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มน้ำในทะเล และให้นกทวีมากขึ้นบนแผ่นดินโลก”
- วันที่ 6 พระเจ้าทรงสร้างสัตว์บนแผ่นดิน ได้แก่ สัตว์ใช้งาน สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่า และทรงสร้างมนุษย์ โดยตรัสว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในท้องฟ้าและฝูงสัตว์ใช้งาน ให้ปกครองแผ่นดินโลกทั้งหมด และสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดบนแผ่นดินทั้งหมด”
- วันที่ 7 ในวันที่เจ็ดก็ทรงพักการงานทั้งสิ้นของพระองค์ที่ได้ทรงกระทำ พระเจ้าจึงทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ด ทรงตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ (Sabbath) เพราะในวันนั้นพระองค์ทรงหยุดพักจากการงานทั้งปวงที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างและทรงกระทำ
กำเนิดมนุษย์ ในหนังสือปฐมกาล บทที่ 2 กล่าวถึงไว้ว่า พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีดิน แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ บนโลกใบนี้ เนื่องจากพระเจ้าทรงระบายลมปราณให้แก่มนุษย์ด้วย เรามักรู้จักลมปราณที่ว่าในนามของวิญญาณ และนั่นจึงไม่มีความแตกต่างกัน ที่เมื่อร่างกายของมนุษย์สูญสลาย ก็กลับกลายไปเป็นดินเช่นเดิมนั่นเอง เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งโลก เมื่อตายไปก็เป็นดินทั้งนั้น พระเจ้าทรงสร้างสวนแห่งหนึ่งไว้ที่เอเดน ซึ่งคาดว่าอาจอยู่ในพื้นที่ของประเทศอิรักในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากปฐมกาลได้กล่าวถึงแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติสไว้ ซึ่งในสวนแห่งเอเดนนี้พระเจ้าทรงบัญชาไว้แก่มนุษย์ว่า “ผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้ เจ้ากินได้ตามใจชอบ แต่ผลของต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่วนั้น ห้ามเจ้ากิน เพราะในวันใดที่เจ้ากิน เจ้าจะต้องตายแน่” ในครั้งแรก พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ผู้ชาย ชื่อ อาดัม ต่อมาทรงเห็นว่าไม่ควรให้มนุษย์อยู่คนเดียว จึงทรงสร้างคู่อุปถัมภ์ที่เหมาะสมให้ โดยทรงชักกระดูกซี่โครงอันหนึ่งออกมาขณะอาดัมกำลังหลับ และนำกระดูกซี่โครงนั้นมาสร้างเป็นมนุษย์ผู้หญิง ชื่อ เอวา
ความบาป ปฐมบาป เข้ามาในโลกครั้งแรก จากการไม่เชื่อฟังพระเจ้า ของมนุษย์ เอวา ถูกล่อลวงโดยมารในรูปของงู ให้สงสัยในคำสั่งของพระเจ้า และไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ พระเจ้าจึงมอบความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ให้ผู้หญิง นั่นคือการอุ้มท้อง และการคลอดลูก เพื่อเตือนให้มนุษย์ระลึกถึงความเจ็บปวดจากการมีบาป ดังพระดำรัสของพระเจ้า ว่า “เราจะเพิ่มความทุกข์ลำบากมากขึ้นแก่เจ้าและเมื่อเจ้ามีครรภ์ เจ้าจะคลอดบุตรด้วยความเจ็บปวด ถึงกระนั้น เจ้าจะยังปรารถนาในสามีของเจ้า และเขาจะปกครองตัวเจ้า” อาดัม ไม่เชื่อฟังพระเจ้าเพราะเชื่อเอวา ดังนั้น ผู้ชายจึงถูกลงโทษให้ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ดังที่พระเจ้าทรงตร้สไว้ว่า “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้าจนเจ้ากลับไปเป็นดิน เพราะเจ้าถูกนำมาจากดิน และเพราะเจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม” การไม่เชื่อฟังพระเจ้าของอาดัม และเอวา ทำให้ทั้งสองคนถูกขับออกจากสวนเอเดน ต้องทำมาหาเลี้ยงตนเอง และสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อมาอีกมากมาย