การพิพากษาครั้งสุดท้าย หรือ วันแห่งการพิพากษา (Day of Judgment) หรือ วันโลกาวินาศ (Doomsday) ตามหลักอวสานวิทยาศาสนาคริสต์ (Christian eschatology) หมายถึง วันที่พระเป็นเจ้าทรงพิพากษาบรรดาประชาชาติต่าง ๆซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการคืนชีพของบรรดาผู้ตายและการมาครั้งที่สองของพระเยซู หัวข้อนี้เป็นที่นิยมทำในงานศิลปะต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลระบุว่าพระเจ้าทรงกำหนดวันหนึ่งไว้เพื่อจะพิพากษาโลก และวันแห่งการพิพากษานั้นจะยาวนานหนึ่งพันปี พระเจ้าจะทรงทำลายองค์ประกอบต่างๆของสังคมมนุษย์ที่เสื่อมทรามและกำจัดคนชั่ว ผู้รอดชีวิตจากอวสานของยุคนี้คือ “คนเป็น” ที่จะถูกพิพากษา ในช่วงการพิพากษาซึ่งยาวนานหนึ่งพันปีนั้น พระเยซูพร้อมด้วยชายและหญิง 144,000 คนที่ถูกปลุกขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์จะปกครองแผ่นดินโลก ในวันพิพากษา ซาตานและเหล่าผีปิศาจจะถูกจำกัดไม่ให้มีอำนาจครอบงำกิจการของมนุษย์
พระเจ้า หรือ พระเป็นเจ้า หมายถึง เทวดาผู้เป็นใหญ่ ถือเป็นเทวดาเพียงพระองค์เดียวตามความเชื่อแบบเอกเทวนิยม หรือเป็นเทวดาผู้เป็นสารัตถะเดียวของเอกภพตามความเชื่อแบบพหุเทวนิยม พระเป็นเจ้าถือว่าเป็นผู้อยู่เหนือธรรมชาติ พระผู้สร้างและปกครองเอกภพ นักเทววิทยาได้อธิบายคุณลักษณะของพระเป็นเจ้าไว้ต่าง ๆ กันตามแต่มโนทัศน์เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าของบุคคลนั้น โดยทั่วไปถือว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู ทรงอำนาจไร้ขีดจำกัด ทรงสถิตอยู่ทุกหนแห่ง ทรงพระเมตตา เป็นภาวะเชิงเดียวที่ไม่แบ่งแยก ทรงสถิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และเอกภพไม่อาจอยู่ได้โดยปราศจากพระองค์ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าพระเป็นเจ้าทรงมีสภาพเป็นบุคคล เป็นวิญญาณ เป็นต้นกำเนิดของพันธะทางศีลธรรมทั้งปวง เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะรับรู้ได้ นักเทววิทยาในศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามสนับสนุนทรรศนะนี้เช่นนี้ ส่วนนักปรัชญาในสมัยกลางและสมัยใหม่ยังคงให้เหตุผลสนับสนุนและคัดค้านกันอยู่ว่าพระเป็นเจ้ามีจริงหรือไม่
พระเป็นเจ้ามีหลายพระนามแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมที่นับถือว่าจะมองพระองค์เป็นใครและมีแง่มุมต่าง ๆ อย่างไร เช่น คัมภีร์ฮีบรูและคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมระบุว่าพระเป็นเจ้ามี พระนามว่า “พระยาห์เวห์” หรือ “เราเป็น”แต่ในศาสนายูดาห์มักหลีกเลี่ยงการออกพระนามศักดิ์สิทธิ์นี้ แล้วออกพระนามว่า “เอโลฮิม” หรือ “อะโดนาย” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทน ในศาสนาอิสลามมีพระนามพระเป็นเจ้าถึง 99 พระนาม พระนามที่ใช้มากที่สุดคือ “อัลลอฮ์”
คัมภีร์ไบเบิล หรือ พระคัมภีร์ (มาจากภาษากรีกโบราณว่า Βίβλος บิบลิออน แปลว่า หนังสือ) ชาวโปรเตสแตนต์เรียกว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ (Holy Bible) เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ มนุษย์ บาป และแผนการของพระยาห์เวห์ในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากความพินาศอันเนื่องจากความบาปสู่ชีวิตนิรันดร์ เป็นหนังสือที่บันทึกหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งในบางเล่มมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของศาสนายูดาห์ของชาวยิว ชาวคริสต์เรียกคัมภีร์ไบเบิลในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น พระวจนะของพระเจ้า (Word of God) หนังสือดี (Good Book) และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Scripture) คริสตชนทุกคนเชื่อว่าพระคัมภีร์ทุกบททุกข้อนั้นมนุษย์เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 66 หรือ 73 หรือ 78 เล่ม (แล้วแต่นิกาย) ประกอบด้วยภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นก่อนที่พระเยซูคริสต์ประสูติ ทั้งหมดเขียนเป็นภาษาฮีบรู ยกเว้นส่วนที่เป็นคัมภีร์อธิกธรรม (ยอมรับเฉพาะชาวคาทอลิก) ถูกเขียนด้วยภาษากรีกและภาษาอียิปต์ ส่วนพันธสัญญาใหม่ถูกเขียนขึ้นหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว โดยบันทึกถึงเรื่องราวของพระเยซูตลอดพระชนม์ชีพ รวมทั้งคำสอน และการประกาศข่าวดีแห่งความรอด การยอมรับการทรมาน และการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู การกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ การส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มายังอัครทูต ประวัติศาสตร์ของคริสตจักรในยุคแรกเริ่ม ภายหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูแล้ว การเบียดเบียนคริสตจักรในรูปแบบต่าง ๆ
ศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน คริสตชนเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจึงมักเรียกพระเยซูว่า “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก