การทำเครื่องหมายกางเขน หรือที่ชาวคาทอลิกเรียกว่า การทำสำคัญมหากางเขน (อังกฤษ: Sign of the Cross; ละติน: Signum Crucis) เป็นรูปแบบการปฏิบัติอย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยมักมีการกล่าว “เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน” ประกอบด้วย การทำเช่นนี้เป็นการระลึกถึงการตรึงกางเขนของพระเยซู แบบดั้งเดิมทำจากขวาไปซ้าย ซึ่งใช้โดยสมาชิกคริสตจักรอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์และคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก ส่วนแบบใหม่ทำจากซ้ายไปขวาใช้โดยคริสตจักรคาทอลิก แองกลิคัน ลูเทอแรน และโอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แล้ว
ความสำคัญ เพราะว่าเวลาทำเครื่องหมายกางเขนจะต้องกล่าวเดชะพระนามฯ ด้วย การทำเช่นนี้จึงเป็นการแสดงความเชื่อถึงพระตรีเอกภาพว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความหมายอื่น ๆ หลายประการด้วยกัน คือ เป็นการแสดงว่าตัวผู้ทำนั้นถวายตัวแก่พระเยซู เป็นการวิงวอนขอพระหรรษทานจากพระเจ้า และใช้เป็นการอวยพรบุคคลก็ได้ นอกจากนี้เวลาชาวคริสต์รู้สึกว่าตนกำลังเผชิญหน้ากับ “การผจญของมาร” การทำเครื่องหมายกางเขนเป็นการเตือนสติแก่ตนและยืนยันถึงพระอานุภาพของพระเจ้าในการต่อสู้กับสิ่งชั่ว ชาวคริสต์ทำเครื่องหมายนี้เมื่อร่วมสวดมนต์ ส่วนบาทหลวงเวลาประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีอื่น ๆ ก็ทำเครื่องหมายนี้เช่นเดียวกัน การทำเครื่องหมายกางเขนของนิกายออร์ทอดอกซ์ การทำเครื่องหมายกางเขนของชาวคริสเตียนออร์ทอดอกซ์เป็นการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า และพระตรีเอกภาพ โดยจะนำนิ้วมือของมือขวามาประจบกัน แล้วจะแนบนิ้วนาง และนิ้วก้อยให้ชิดกับฝ่ามือ
ความหมายของการทำเครื่องหมายกางเขนของนิกายออร์ทอดอกซ์ สามนิ้วแรก (นิ้วโป้ง, นิ้วชี้ และนิ้วกลาง) จะแสดงถึงความเชื่อต่อพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า และยังหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียวของพระตรีเอกภาพอีกด้วย และสองนิ้วที่เหลือจะแสดงถึงธรรมชาติของพระเยซูคือพระเยซูเจ้าทรงมีความเป็นมนุษย์แท้ และพระเจ้าแท้ ในการทำสัญลักษณ์ไม้กางเขน จะใช้มือของแตะที่หน้าผาก, ท้อง (หรือบริเวณสะดือ), และไหล่ขวาซ้าย โดยความหมายของการแตะหน้าผาก คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่จิตใจ ท้อง คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่ประสาทสัมผัสภายใน หัวใหล่ด้านขวาซ้าย คือการให้ศีลพรแห่งความศักดิ์สิทธิ์แก่ความแข็งแรงของร่างกาย
การกล่าวถึงพระตรีเอกภาพ (อังกฤษ: Trinitarian formula) ว่า “ในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ “เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” (ศัพท์โรมันคาทอลิก) (อังกฤษ: In the name of the Father, and of the Son, and of the Holy Spirit; ละติน: in nomine Patris, et Filii, et Spiritus Sancti; กรีก: εἰς τὸ ὄνομα τοῦ Πατρὸς καὶ τοῦ Υἱοῦ καὶ τοῦ Ἁγίου Πνεύματος) มีที่มาจากพระวรสารนักบุญมัทธิว ความว่า “เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” คริสต์ศาสนิกชนกล่าวคำนี้ในโอกาส เช่น การอธิษฐาน ในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีบัพติศมา และการทำเครื่องหมายกางเขน หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนบทนี้เนื่องจากคิดว่าเป็นการยกย่องเพศชายแต่ฝ่ายเดียว ทั้งที่จริง ๆ แล้วพระเจ้าทรงไม่มีเพศ บางกลุ่มเลือกที่จะใช้ “ในนามพระผู้สร้าง พระผู้ไถ่ และพระผู้ทำให้บริสุทธิ์” ทั้งนี้คริสตจักรโรมันคาทอลิกและคริสตจักรตะวันออกบางแห่งถือว่าเป็นการไม่ถูกต้อง
การตรึงพระเยซูที่กางเขน (อังกฤษ: Crucifixion of Jesus) เป็นเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูที่ถูกบันทึกในพระวรสารทั้งสี่ฉบับ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่พระเยซูถูกจับและถูกพิพากษา ในทางเทววิทยาศาสนาคริสต์ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นเหตุการณ์หัวใจสำคัญ ส่งอิทธิพลให้เกิดเหตุการณ์อื่น ๆ ต่อเนื่องมา นอกจากนั้นการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญทางปรัชญาความเชื่อ เป็นการเสียชีวิตของผู้ที่มาช่วยโลก เห็นได้จากการรับทรมานและความตายของพระเมสสิยาห์เพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ ตามด้วยพันธสัญญาใหม่ที่กล่าวถึง การคืนชีพในสามวันหลังจากสิ้นพระชนม์ และทรงปรากฏพระกายต่ออัครทูตก่อนพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์