จตุรอาชาแห่งวิบัติ ในเทววิทยาศาสนาคริสต์ จตุรอาชา (ฮีบรู: ארבעת פרשי) ถูกกล่าวถึงในหนังสือวิวรณ์อันเป็นเล่มสุดท้ายของพันธสัญญาใหม่ ปรากฎในวรรณกรรมสิ้นโลกของนักบุญยอห์นแห่งพัตมอส ตลอดจนปรากฎในหนังสือเศคาริยาห์และหนังสือเอเสเคียลของพันธสัญญาเดิม จตุรอาชาถูกกล่าวถึงในฐานะผู้ลงทัณฑ์จากพระเจ้า หนังสือวิวรณ์ 6 ระบุว่าพระหัตถ์ขวาของพระเจ้ามีหนังสือม้วนหนึ่งซึ่งผนึกด้วยดวงตราทั้งเจ็ด ลูกแกะของพระเจ้า/สิงโตแห่งยูดาห์เป็นผู้แกะดวงตราสี่ดวงแรก เมื่อแกะดวงตราแต่ละดวงก็มีบุรุษบนหลังม้าปรากฎขึ้นเรียงตามลำดับสีคือ สีขาว, สีแดง, สีดำ และสีกะเลียว หนังสือเศคาริยาห์ระบุว่าพวกเขาเป็น “ผู้ที่พระองค์ส่งมาเพื่อตรวจตราแผ่นดินโลก” หนังสือเอเสเคียลระบุว่าพระเจ้าทรง “ส่งภัยแห่งการพิพากษาร้ายแรงทั้งสี่ประการของเราคือ ดาบ การกันดารอาหาร สัตว์ร้ายและโรคระบาดมาเหนือเยรูซาเลม เพื่อกำจัดมนุษย์และสัตว์เสียจากนครนั้น”
ม้าสีขาว หนังสือวิวรณ์ 6 ได้กล่าวถึงม้าสีขาวว่า “พระเมษโปดกทรงแกะตราดวงหนึ่งในเจ็ดดวงนั้น…ม้าสีขาวตัวหนึ่งออกมา ผู้ที่ขี่ม้าตัวนั้นถือธนู และได้รับมอบมงกุฎ แล้วท่านก็ออกไปอย่างมีชัย และเพื่อจะได้ชัยชนะ” นักเทววิทยามักตีความว่าหมายถึงวิบัติจากโรคระบาด แต่บางส่วนก็ตีความว่าหมายถึงผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระคริสต์ (Antichrist)
ม้าสีแดง หนังสือวิวรณ์ 6 ได้กล่าวถึงม้าสีแดงว่า “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สอง ข้าพเจ้าก็ได้ยินสิ่งมีชีวิตที่สองร้องว่า “มาเถอะ” และม้าอีกตัวหนึ่งเข้ามา เป็นม้าสีแดงสด ผู้ที่ขี่ม้าตัวนี้ได้รับมอบหมายให้เอาสันติภาพไปจากแผ่นดินโลก เพื่อให้คนรบราฆ่าฟันกัน และท่านผู้นี้ได้รับมอบดาบใหญ่เล่มหนึ่ง” นักเทววิทยามักตีความว่าหมายถึงวิบัติจากภัยสงคราม
ม้าสีดำ หนังสือวิวรณ์ 6 ได้กล่าวถึงม้าสีดำว่า “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สาม ข้าพเจ้าก็ได้ยินสิ่งมีชีวิตที่สามร้องว่า “มาเถอะ” แล้วข้าพเจ้าเห็น และนี่แน่ะ ม้าสีดำตัวหนึ่งเข้ามา และผู้ที่ขี่ม้าตัวนี้ถือตราชู” นักเทววิทยามักตีความว่าหมายถึงวิบัติจากภัยอดอยากอาหาร
ม้าสีกะเลียว หนังสือวิวรณ์ 6 ได้กล่าวถึงม้าสีกะเลียวว่า “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สี่ ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงสิ่งมีชีวิตที่สี่ร้องว่า “มาเถอะ” แล้วข้าพเจ้าเห็น และนี่แน่ะ ม้าสีกะเลียวตัวหนึ่ง ผู้ที่ขี่ม้าตัวนี้มีชื่อว่ามัจจุราช และแดนคนตายก็ติดตามมาด้วย” นักเทววิทยามักตีความถึงวิบัติจากความตาย
เทววิทยาศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christian theology) คริสต์เทววิทยา หรือศาสนศาสตร์ คือเทววิทยาที่เกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาคริสต์ นักเทววิทยาศาสนาคริสต์ใช้เหตุผลทางการวิจัยและการถกเพื่อทำความเข้าใจ อธิบาย ทดสอบ วิจารณ์ประเด็น ป้องกันและเผยแพร่คริสต์ศาสนา เป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มความเข้าใจต่อศาสนาคริสต์ เพื่อเปรียบเทียบคริสต์ศาสนากับประเพณีหรือความเชื่อถืออื่น ๆ และเพื่อป้องกัน กล่าวโต้ต่อนักวิจารณ์ ช่วยในการปฏิรูปศาสนา มีความเข้าใจในคริสต์ศาสนาพอที่จะสามารถนำเอาความเข้าใจนั้นมาทำความเข้าใจในสถานะการณ์ปัจจุบันตามความจำเป็น เทววิทยาศาสนาคริสต์เผยแพร่เข้ามาในวัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะวัฒนธรรมยุโรปก่อนสมัยใหม่ ความเกี่ยวพันกันระหว่างปรัชญาสองอย่างนี้ทำให้ผู้ต้องการทำความความเข้าใจในเทววิทยาศาสนาคริสต์จำเป็นต้องเข้าใจในวัฒนธรรมตะวันตกด้วยในขณะเดียวกัน
พันธสัญญาเดิม (อังกฤษ: Old Testament) เป็นศัพท์ศาสนาคริสต์ใช้เรียกคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งเป็นชุดคัมภีร์ของชาววงศ์วานอิสราเอลโบราณ ที่รวมกันเป็นส่วนแรกของคัมภีร์ไบเบิลในศาสนาคริสต์ จำนวนหนังสือในพันธสัญญาเดิมจะแตกต่างกันตามแต่ละนิกายในศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ยอมรับเฉพาะหนังสือ 24 เล่มในคัมภีร์ทานัคว่าเป็นพันธสัญญาเดิม แต่แบ่งใหม่เป็น 39 เล่ม ส่วนนิกายโรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ คอปติกออร์ทอดอกซ์ และคริสตจักรแห่งเอธิโอเปีย มีจำนวนหนังสือที่รับเข้าในสารบบพันธสัญญาเดิมของตนมากกว่า
ศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน คริสตชนเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจึงมักเรียกพระเยซูว่า “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก