จดหมายถึงชาวฮีบรู (อังกฤษ: Epistle to the Hebrews) เป็นหนังสือเล่มที่ 19 ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ หนังสือเล่มนี้แต่แรกเป็นจดหมายขนาดยาวที่ถูกเขียนถึงชาวฮีบรู ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อตนเองว่าเป็นใคร ซึ่งการทำเช่นนั้นแสดงว่า ผู้รับจดหมายชาวฮีบรูต้องรู้จักผู้เขียนเป็นอย่างดี และจากเนื้อหาในจดหมายที่กล่าวถึงคำสอนในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมด้วยนั้น แสดงว่าผู้เขียนเป็นผู้มีการศึกษาและเข้าใจในเรื่องราวเหล่านั้นดี ประกอบกับผู้เขียนมีความสนิทสนมกับทิโมธีด้วย ทำให้ในยุคแรกเชื่อกันว่านักบุญเปาโลอัครทูต น่าจะเป็นผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ แต่หลังจากการปฏิรูปแล้ว มีข้อโต้แย้งว่า ผู้เขียนไม่น่าจะเป็นเปาโล เพราะสไตล์การเขียนจดหมายของนักบุญเปาโล ไม่ใช่แบบที่อยู่ในจดหมายฉบับนี้ อาจจะเป็นอปอลโลมากกว่า ซึ่งอปอลโลก็มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันได้แน่นอนว่าผู้เขียนเป็นใคร ส่วนช่วงเวลาในการเขียนน่าอยู่ในราวปี ค.ศ. 70 คือก่อนที่กรุงเยรูซาเลมจะล่มสลาย
คริสตจักรยุคแรกถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงจากชาวยิวที่ไม่เชื่อพระเยซู ผู้รับจดหมายฉบับนี้ในยุคนั้นน่าจะเป็นชาวยิวที่กลับใจเป็นคริสเตียน แต่กำลังถูกกดดันอย่างหนัก จนคิดว่าจะละทิ้งความเชื่อและกลับไปประพฤติตามศาสนายูดาห์เหมือนเดิม ผู้เขียนจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ เพื่อกระตุ้นให้ยึดมั่นในความเชื่อต่อไป เนื้อหาหลักในหนังสือฮีบรูคือ ความสมบูรณ์ของพระเยซู ในฐานะผู้เปิดเผยและผู้นำมาซึ่งพระคุณของพระเจ้า ในพระเยซูทุกสิ่งทุกอย่างบริบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดอื่นอีก หนังสือฮีบรูถูกเรียกว่า “หนังสือของสิ่งประเสริฐกว่า” เพราะในจดหมายฉบับนี้ มีการใช้คำที่มีความหมายว่า “ประเสริฐกว่า” หรือ “ดีกว่า” ถึง 15 ครั้ง หนังสือฮีบรูมีจุดประสงค์อยู่ 4 ประการ โดยประการแรกสำคัญที่สุดคือ ต้องการให้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเยซู มีเพียงแค่พระเยซูเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ผู้เขียนแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเยซู โดยการเปรียบเทียบกับผู้ยิ่งใหญ่อื่น ๆ เช่น มหาปุโรหิต โมเสส หรือแม้แต่ทูตสวรรค์ก็ไม่อาจจะเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่กับพระเยซูได้ ประการที่สองคือ ต้องการให้ยึดมั่นในความเชื่อต่อไป แม้ว่าจะถูกกดขี่ข่มเหงก็ตาม ผู้เขียนยกตัวอย่างบุคคลในอดีตที่มีชื่อเสียงดีด้านความเชื่อ เช่น โนอาห์ อับราฮัม โมเสส เป็นต้น ผู้เขียนกล่าวต่อไปอีกว่า บางคนเสียชีวิตไปทั้งที่ยังไม่ได้รับอะไรตอบแทนจากความเชื่อนั้น แต่ก็ยังคงความเชื่ออยู่ เพราะมั่นใจว่าพระเจ้าจะจัดเตรียมสิ่งที่ดีกว่าไว้ให้ ประการที่สามคือ ต้องการอธิบายให้เข้าใจถึงสาเหตุที่พระเจ้าตีสอน อาจจะมีผู้เชื่อบางคนที่ละทิ้งความเชื่อเพราะถูกพระเจ้าตีสอน แต่ผู้เขียนกำลังบอกผู้อ่านว่า “ท่านทั้งหลายจงรับและทนเอาเถอะ เพราะเป็นการตีสอน พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นบุตรของพระองค์ ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่าที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง” ประการสุดท้ายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้พระเจ้าทรงพอพระทัย ในส่วนท้ายนี้ตรงไปตรงมา เข้าใจได้ไม่ยาก เช่น เน้นให้รักกันฉันพี่น้อง อย่าล่วงประเวณี อย่าเห็นแก่เงิน เป็นต้น
คัมภีร์ไบเบิล หรือ พระคัมภีร์ (มาจากภาษากรีกโบราณว่า Βίβλος บิบลิออน แปลว่า หนังสือ) ชาวโปรเตสแตนต์เรียกว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ (Holy Bible) เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระยาห์เวห์ มนุษย์ บาป และแผนการของพระยาห์เวห์ในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากความพินาศอันเนื่องจากความบาปสู่ชีวิตนิรันดร์ เป็นหนังสือที่บันทึกหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งในบางเล่มมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของศาสนายูดาห์ของชาวยิว ชาวคริสต์เรียกคัมภีร์ไบเบิลในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ เช่น พระวจนะของพระเจ้า (Word of God) หนังสือดี (Good Book) และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Scripture) คริสตชนทุกคนเชื่อว่าพระคัมภีร์ทุกบททุกข้อนั้นมนุษย์เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า ประกอบด้วยหนังสือจำนวน 66 หรือ 73 หรือ 78 เล่ม (แล้วแต่นิกาย) ประกอบด้วยภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นก่อนที่พระเยซูคริสต์ประสูติ ทั้งหมดเขียนเป็นภาษาฮีบรู ยกเว้นส่วนที่เป็นคัมภีร์อธิกธรรม (ยอมรับเฉพาะชาวคาทอลิก) ถูกเขียนด้วยภาษากรีกและภาษาอียิปต์ ส่วนพันธสัญญาใหม่ถูกเขียนขึ้นหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว โดยบันทึกถึงเรื่องราวของพระเยซูตลอดพระชนม์ชีพ รวมทั้งคำสอน และการประกาศข่าวดีแห่งความรอด การยอมรับการทรมาน และการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซู การกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ การส่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มายังอัครทูต ประวัติศาสตร์ของคริสตจักรในยุคแรกเริ่ม ภายหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูแล้ว การเบียดเบียนคริสตจักรในรูปแบบต่าง ๆ
ศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน คริสตชนเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจึงมักเรียกพระเยซูว่า “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก
พระเยซู (อังกฤษ: Jesus) หรือ เยซูชาวนาซาเร็ธ (อังกฤษ: Jesus of Nazareth; 4-2 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 30-33) เป็นชาวยิวผู้เป็นศาสดาของศาสนาคริสต์ คริสต์ศาสนิกชนเรียกพระองค์ว่า พระเยซูคริสต์ เพราะถือว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอด เป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าพระบุตรซึ่งเป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ นอกจากนี้ในคัมภีร์ไบเบิลยังบันทึกว่าพระเยซูทรงแสดงปาฏิหาริย์ทรงรักษาคนตาบอดให้หายขาด รักษาคนพิการ โดยตรัสว่า บาปของเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว หลังพระเยซูสิ้นพระชนม์ ก็ได้ทรงฟื้นขึ้นจากความตายหลังสิ้นพระชนม์ได้เพียง 3 วัน และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ชาวมุสลิมก็ให้ความเคารพพระเยซูเช่นกัน แต่เชื่อต่างจากชาวคริสต์ โดยชาวมุสลิมเรียกพระเยซูว่านบีอีซา คัมภีร์อัลกุรอานระบุว่าพระเยซูไม่ใช่ทั้งพระเจ้าและพระบุตรของพระเจ้า แต่เป็นบ่าวคนหนึ่งของพระเจ้า และเป็นเราะซูลที่พระเจ้าส่งมาเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมให้แก่ชาวอิสราเอลเช่นเดียวกับเราะซูลอื่น ๆ นอกจากนี้กุรอานยังอ้างว่าพระเยซูได้ทำนายถึงเราะซูลอีกท่านหนึ่งที่จะมาในอนาคตด้วยว่าชื่ออะหมัด